เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 5. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
3. โกสลรัญโญปราชยวัตถุ
เรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[201] ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข1

4. อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ
เรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สามีของสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง ดังนี้)
[202] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบ2ไม่มี

5. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[203] ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง3
สังขารทั้งหลาย4เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/125/148
2 ความสงบ (สันติ) ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. 6/117)
3 ความหิว ที่เรียกว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยารักษาอยู่ตลอดเวลา (ขุ.ธ.อ. 6/116)
4 สังขารทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงขันธ์ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/119)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :95 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 8. สักกวัตถุ
6. ปเสนทิโกสลวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[204] ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

7. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระ ดังนี้)
[205] บุคคลดื่มปวิเวกรส1
ลิ้มรสแห่งความสงบ2
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป3

8. สักกวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[206] การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เพราะการไม่พบเห็นคนพาล บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เชิงอรรถ :
1 ปวิเวกรส หมายถึงเอกีภาวสุข(สุขที่เกิดจากความเป็นผู้อยู่ผู้เดียว) (ขุ.ธ.อ. 6/124)
2 ดูเชิงอรรถที่ 2 หน้า 95 ในเล่มนี้
3 ในคาถานี้ ตรัสหมายเอาคุณสมบัติของพระขีณาสพผู้ดื่มรสแห่งปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลกุตตรธรรม 9 ประการ
(ขุ.ธ.อ. 6/124)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :96 }